Post Pandemic Diary 3 ไมโครสมาธิ

ฉันนั่งสมาธิไม่ได้มาหลายพักแล้ว แรกๆเป็นเพราะฉันละความเพียร ตามปกติของเด็กที่วิ่งไปตามโลกและอยู่ห่างวัด หลังๆเป็นด้วยอาการของฉัน แต่ตอนนี้..ฉันก็ไม่รู้สาเหตุ อาจจะแค่ฉันเกียจคร้านงอแง หรือไม่เกิดความเคยชินที่จะทำเท่านั้นแหละ มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อนึกขึ้นมาได้ถึงที่หลวงพ่อเทศน์อย่างที่เล่าไปตอนที่แล้วว่า สติเพียงชั่วครู่ก็รวมๆกันเป็นพลังขึ้นมาได้ บวกกับฟังคลิปถึงเทคนิคเซเลมี่ที่ให้หั่นงานเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันเค้าจะหั่นกันเล็กลง ประมาณว่า ถ้าไม่อยากทำงาน ก็แค่เอาตัวไปนั่งโต๊ะก่อน เปิดคอมพ์ก่อน แบบนั้น ฉันก็เลยลองนอนเฉยๆแล้วกำหนดลมหายใจไป ได้กี่ทีก็เอาเท่านั้น จากนั้นบางครั้งนั่งๆเตรียมนอนอยู่ ฉันก็หลับตากำหนดลมหายใจ ฉันยังไม่ได้กลับมานั่งสมาธิตามรูปแบบหรือแม้แต่กำหนดอิริยาบทย่อยเลย แต่เวลาที่รู้สึกทุกข์ อย่างโรคฮอร์โมนมันจะทำให้ร้อนพลุ่งพล่านมาจากข้างใน แล้วแทบจะอยู่ไม่ได้ ฉันก็ยอมรับไปว่ามันร้อน รู้สึกไปตามนั้น ไม่ไหวก็ลุกขึ้นมากวาดบ้านซะเลย (เพราะนั่งไปก็ไม่รู้สึกสบายแล้ว) แล้วมันก็ค่อยๆหายไป หรืออย่างน้อยก็ค่อยๆทนไหว กับความกังวล ความกลัว หรือความไม่แน่นอนนี่ก็เหมือนกัน เมื่อก่อนตอนฉันกังวลแล้ว ยังต้องไปว่าตัวเองซ้ำอีกที่กังวล หรือกลัวความเปลี่ยนแปลง หรือฟังแล้วนึกไม่ออกว่าเราจะปรับตัวยังไงทัน ก็ตีโพยตีพาย ทุกข์ไปในใจ แต่เดี๋ยวนี้ฟังแล้วก็เริ่มเฉยๆ ทำได้ก็ทำ ถึงเวลานั้นปรับได้ก็จะลองปรับ ปรับไม่ได้ก็คงจะไม่ถึงตายกระมัง พวกนี้จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่อยากจะแบ่งปันก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่ฉันเล่าไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์ก็ได้ แต่ฉันเลือกที่จะเล่าไว้ให้คนมาอ่านเอง มากกว่าที่จะไปให้คำแนะนำกับใครเมื่อเขามีปัญหา เพราะมันก็จริงอย่างที่ดร.ประเวชพูดไว้ใน "ปลดล็อคกับหมอเวช" ว่าคำปลอบใจ ปลอบโยนต่างๆ บางทีถ้าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ มองภาวะจิตใจของคนรับฟังไม่ออก หยิบคำพูดที่ดูดี สูตรสำเร็จที่เคยใช้กันได้ หรือแม้แต่เอาประสบการณ์ของตัวเองไปบอกต่อ คนรับฟังก็อาจจะใช้ไม่ได้ ในขณะนั้นๆ แต่กลับจะเหมือนเป็นการซ้ำเติมหรือต่อว่ากลายๆมากกว่า ว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ หรือทำไมไม่คิดอย่างนี้ (เพื่อที่จะพ้นมาจากภาวะซึมเศร้า ทุกข์ทน กังวล หรือจมดิ่งในช่วงนี้ไปให้ได้) ทั้งๆที่เงื่อนไขในใจแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน รายละเอียดของประสบการณ์ที่เจอก็ไม่เหมือนกัน ฉันเองได้แต่พยายาม "เรียกชื่อของความรู้สึกเหล่านั้น" อย่างที่หมอประเวชบอกว่า ถ้าเราเรียกมันถูก บางทีสมองอาจจะมีวิธีจัดการมันเอง
Picture Pitapong89 from Pixabay

ความคิดเห็น